กลับสู่หน้าก่อนนี้

ตั้งโดเมนเนม (Domain Name) อย่างไรให้เหมาะกับเว็บไซต์?

ด้วยความนิยมในการใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันทำให้มีเว็บไซต์ต่างๆ เกิดขึ้นมานับไม่ถ้วน การสร้างเว็บไซต์ให้ประสบความสำเร็จนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการตั้งชื่อเว็บไซต์ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีชื่อที่ต่างกันเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการค้นหา ชื่อเว็บไซต์หรือที่เราเรียกว่า “โดเมนเนม” (Domain Name) นั้นมีความสำคัญมากในการตั้งให้เหมาะกับเนื้อหาในเว็บไซต์ เพราะโดเมนเนมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นการตั้งโดเมนเนมให้เกิดประสิทธิภาพนั้นมีหลักที่ควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้

 

1. เลือกคีย์เวิร์ดที่บ่งบอกถึงธุรกิจของคุณ

ผู้เข้าชมเว็บไซต์มักนึกถึงธุรกิจของคุณเป็นประการแรก ดังนั้นการตั้งโดเมนเนมโดยเลือกคีย์เวิร์ดให้สอดคล้องกับธุรกิจของคุณจะทำให้ผู้ชมเว็บไซต์จำได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้ชื่อสินค้า ชื่อธุรกิจ หรือชื่อองค์กรของคุณมาเป็นโดเมนเนมได้เช่นกัน เช่น aun-webdesign.com ก็เป็นการอธิบายว่าเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการรับทำเว็บไซต์ของบริษัท AUN เป็นต้น

 

2. สั้นๆ เข้าไว้  จำได้ง่ายยิ่งดี

สำหรับใครที่คิดว่าการตั้งโดเมนเนมแบบยาวๆ เพื่ออธิบายถึงธุรกิจของคุณทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เช่น webuildwebsiteandseoserviceforyou.com เพราะชื่อยิ่งยาวยิ่งจะทำให้ลูกค้าจำเว็บไซต์ของคุณไม่ได้ อีกทั้งยังอาจเป็นปัญหาในการพิมพ์นามบัตรเพราะชื่อยาวเกินไปอีกด้วย และโดยปกติความยาวของโดเมนเนมจะสามารถตั้งได้ไม่เกิน 63 ตัวอักษรเท่านั้น ดังนั้นจึงควรเลือกคำสั้นๆ ที่สะกดง่ายๆ มีความหมายในตัว

 

3.  หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องหมายขีด – (dash) ขึ้นต้นและใส่ตัวเลขท้ายชื่อ

โดยปกติแล้วโดเมนเนมทั่วไปไม่ควรใส่เครื่องหมายขีด (–) ไว้ด้านหน้าชื่อเพราะดูประหลาดและไม่มีความหมายใดๆ แต่สามารถใส่ภายในคำเพื่อให้อ่านได้ง่าย เช่น web-building.com ส่วนการใส่ตัวเลขด้านหลังโดเมนเนมนั้นสามารถทำได้ แต่จะทำให้ดูไม่เป็นมืออาชีพและยังทำให้จำได้ยากอีกด้วย  เช่น webbuildingservice2010.com

 

4. หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาคาราโอเกะ คำแสลง หรือตัวย่อ

สำหรับโดเมนเนมที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ แต่มีการสะกดคำเป็นภาษาอังกฤษแบบคำอ่านหรือที่เราเรียกว่าภาษาคาราโอเกะ หรือการใช้คำแสลงแบบตัวย่อหวังจะให้ลูกค้าจำได้นั้นอาจมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เพราะการสะกดคำในลักษณะนี้จะมีความกำกวมค่อนข้างมาก เช่น เว็บไซต์เกี่ยวกับเสื้อผ้า อาจมีการตั้งโดเมนเนมเป็น seaupaa-naarakk4u.com ซึ่งลูกค้าอาจเข้าใจผิดหรือสะกดกันไปคนละแบบตามการออกเสียงของตัวเอง อีกทั้งบางท่านอาจไม่เข้าใจว่า 4u นั้นเป็นตัวย่อของคำว่า for you เป็นต้น  

 

5. ไม่เลียนแบบชื่อเว็บไซต์อื่นๆ

สำหรับเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น google.com. yahoo.com, amazon.com, ebay.com, sanook.com เป็นต้น มีโอกาสสูงในการถูกดัดแปลงชื่อเพื่อให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์รู้สึกคุ้นหู แต่การตั้งโดเมนแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อเว็บไซต์ เพราะดูไม่น่าเชื่อถือและไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง อีกทั้งยังอาจโดนฟ้องร้องได้ เช่น yaawho.com, ebaey.com, zanook.com เป็นต้น

 

6. นามสกุลของเว็บไซต์

นามสกุลของโดเมนเนมนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันสามารถบอกได้ทันทีว่าเว็บไซต์นั้นเกี่ยวกับอะไร หรือมาจากประเทศอะไร โดยนามสกุลที่เราพบเห็นโดยทั่วๆ ไป นั้นมีความหมายดังนี้

  • .com (Commercial) เว็บไซต์เกี่ยวกับธุรกิจการค้า
  • .net (Network) เว็บไซต์ขององค์กรหรือบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับเครือข่าย
  • .org (Organization) เว็บไซต์องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
  • .biz (Business) เว็บไซต์ขององค์กรที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้า
  • .info (Information) เว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลเป็นหลัก
  • .edu (Education) เว็บไซต์ของสถาบันการศึกษา
  • .gov (Government) เว็บไซต์ของรัฐบาล
  • .mil (Military) เว็บไซต์ของหน่วยงานทางทหาร
  • .tv (Television) เว็บไซต์เกี่ยวกับโทรทัศน์

 

นามสกุลอีกประเภทที่พบได้บ่อยๆ คือนามสกุลที่ระบุถึงประเทศที่มา เช่น

  • .th (Thailand) เว็บไซต์จากประเทศไทย
  • .jp (Japan) เว็บไซต์จากประเทศญี่ปุ่น
  • .uk (United Kingdom) เว็บไซต์จากสหราชอาณาจักร
  • .fr (France) เว็บไซต์จากประเทศฝรั่งเศส
  • .cn (China) เว็บไซต์จากประเทศจีน

 

ทั้งนี้ การตั้งโดเมนเนมยังจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจสอบก่อนว่าซ้ำกับเว็บไซต์อื่นๆ หรือไม่ ผู้ตั้งโดเมนเนมจึงควรคิดไว้หลายๆ ชื่อเผื่อไว้เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา และทำให้มีโอกาสคิดชื่อที่ดีที่สุด เพราะโดเมนเนมเป็นปราการด่านแรกๆ ที่ผู้เข้าชมเว็บไซต์จะได้ทำความรู้จักกับธุรกิจของคุณให้มากขึ้นนั่นเอง